Tuesday, October 2, 2012

โพชฌังคปริตร (ตอนที่ 4) - บทสวด 9-13 พร้อมคำแปล




9. ทำสมาธิ

          หลังการสวดมนต์  ควรนั่งสมาธิสัก 10 นาที  เป็นอย่างน้อย  เพื่อให้จิตใจปลอดโปร่งสบาย  ร่างกายเรายังต้องอาบน้ำทำความสะอาดทุกวัน จิตใจก็เช่นกัน  ต้องชำระล้างด้วยการปล่อยวางความคิดต่างๆ ให้หมดไปจากใจ

          วิธีทำสมาธิแบบง่ายๆ คือ นั่งกับพื้นหรือบนเก้าอี้  วางมือวางเท้าอย่างไรก็ได้  ให้อยู่ในท่าพอดีไม่ฝืนร่างกายจนถึงกับเกร็ง  อย่าให้หลังโค้งงอ  เมื่อปรับร่างกายเข้าที่แล้วให้หลับตาลงเบาๆ  สบายๆ  คล้ายๆ กับกำลังพักผ่อน  ไม่บีบเปลือกตาจนแน่น  จากนั้นเอาจิตมากำหนดที่ปลายจมูก (ที่อื่นตามที่ท่านรู้มาก็ได้)  หายใจเข้าบริกรรมว่า  พุท  หายใจออกบริกรรมว่า  โธ  ให้จิตแนบแน่นอยู่กับลมหายใจเข้า-ออก   หรืออยู่กับคำบริกรรมว่า พุท-โธ  ให้กำหนดเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจิตจะสงบนิ่งเป็นสมาธิก็ไม่ต้องบริกรรมอีก  แต่ขณะใดจิตฟุ้งซ่านรีบใช้สติดึงจิตกลับมาที่คำบริกรรมเพื่อให้จิตมีที่ยึดเหนี่ยวอยู่กับอารมณ์กรรมฐาน

แผ่เมตตา หลังจากสวดมนต์ นั่งสมาธิเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เชื่อมั่นว่าพลังใจของท่านย่อมเต็มเปี่ยมด้วยบุญ เพราะได้บำเพ็ญบุญตามหลักของไตรสิกขาครบถ้วน 

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ท่านสอนว่า ขณะที่จิตของท่านเป็นสมาธิ และแผ่เมตตาออกไปนั้น บุญกุศลที่ได้เท่ากับสร้างโบสถ์ทั้งหลัง"


10. บทแผ่เมตตาแก่ตนเอง

อะหัง สุขิโต  โหมิ,
ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข;

นิททุกโข  โหมิ,  
ปราศจากความทุกข์;

อะเวโร โหมิ, 
ปราศจากเวร
;

อัพ๎ยาปัชโฌ โหมิ, 
ปราศจากอุปสรรคอันตรายทั้งปวง;

อะนีโฆ โหมิ, 
ปราศจากความทุกข์กาย ทุกข์ใจ;

สุขี อัตตานัง ปะริหะรามิ,
มีความสุขกายสุขใจ  รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด.
 

อ่านว่า อับ-พะยา-ปัด-โช (พะยา ออกเสียงสระอะ ตรงคำว่า พะ เร็ว ๆ ออกครึ่งเสียง
 
11. บทแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์

สัพเพ สัตตา,
สัตว์ทั้งหลายที่เป็นเพื่อนทุกข์  เกิดแก่เจ็บตาย  ด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น;

อะเวโร โหนตุ,

จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าได้มีเวรต่อกันและกันเลย;

อัพ๎ยาปัชโฌ โหนตุ,
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าได้เบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย
;

อะนีฆา โหนตุ, 
จงเป็นสุขเป็นสุขเถิด  อย่าได้มีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย
;

สุขี อัตตานัง ปะริหะรันตุ,  
จงมีความสุขกายสุขใจ  รักษาตนให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งสิ้นเถิด.


12. บทแผ่ส่วนกุศล

          การแผ่กุศล  เป็นการอุทิศความดีที่เราทำแล้วให้ผู้อื่นมีมารดาบิดา เป็นต้น  เรื่อยมาตามลำดับ  ทำให้เราได้บุญมากขึ้น  ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า  ปัตติทานมัย  บุญที่เกิดจากการอุทิศบุญของตนให้ผู้อื่นนั่นเอง
 

อิทัง  เม มาตาปิตูนัง โหตุ, สุขิตา โหนตุ มาตาปิตะโร,
ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่มารดาบิดาของข้าพเจ้า, ขอให้มารดาบิดาของข้าพเจ้ามีความสุข;

อิทัง เม ญาตีนัง โหตุ, สุขิตา โหนตุ ญาตะโย,
ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า, ขอให้ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้ามีความสุข;

อิทัง เม คะรุปัชฌายาจะริยานัง โหตุ, สุขิตา โหนตุ คะรุปัชฌายาจะริยา, 
ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่ครูอุปัชฌาย์และอาจารย์ของข้าพเจ้า, ขอให้ครูอุปัชฌาย์และอาจารย์ของข้าพเจ้ามีความสุข;

อิทัง สัพพะเทวะตานัง โหตุ, สุขิตา โหนตุ สัพเพ เทวา,   
ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่เทวดาทั้งหลายทั้งปวง,  ขอให้เทวดาทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข;

อิทัง สัพพะเปตานัง โหตุ, สุขิตา โหนตุ สัพเพ เปตา,
ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายทั้งปวง, ขอให้เปรตทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข;

อิทัง สัพพะเวรีนัง โหตุ, สุขิตา โหนตุ สัพเพ เวรี,
ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวง, ขอให้เจ้ากรรมนายเวรทั้งหลายทั้งปวงมีความสุข;

อิทัง สัพพะสัตตานัง โหตุ, สุขิตา โหนตุ สัพเพ สัตตา,
ขอส่วนบุญนี้ จงสำเร็จแก่สัตว์ทั้งหลายทั้งปวง,  ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงมีความสุขถ้วนหน้ากัน เทอญ;
 
อธิษฐานจิตเพิ่มบุญบารมี

          เมื่อแผ่เมตตาจิตจบแล้ว  พึงอธิษฐานจิตนึกคิดปรารถนาแต่สิ่งดีงาม  คำว่า อธิษฐาน  โดยทั่วไปหมายถึง  การตั้งใจมุ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่ง, การนึกปรารถนาสิ่งที่ต้องการจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์  แต่ในทางธรรมหมายถึง  ความตั้งใจมั่นคงตัดสินใจแน่นอนที่จะทำความดี  ดังที่ หลวงพ่อพุทธทาส กล่าวไว้ว่า

          "...ตอนที่กล่าวอธิษฐานจิตของตัวเอง  คือตั้งความปรารถนาของตัวเองว่า ขอให้เป็นอย่างนั้น  ขอให้เป็นอย่างนี้  รวมใจความสำคัญอยู่ที่ว่า  ขอให้สิ้นกิเลสอาสวะในที่สุด  นี้เป็นเรื่องดี  คือไม่รู้จักลืมวัตถุประสงค์มุ่งหมาย...

          บทอธิษฐานจิตนั้น  ตั้งความปรารถนาอันสูงไว้เป็นเบื้องหน้า  แล้วก็ย้อมจิตให้เป็นอย่างนั้นจริงๆ อยู่เสมอแล้ว  แน่นอนทีเดียว   ไม่ต้องมีใครมารับประกันก็รับประกันตัวเองได้ว่า  ความเป็นไปในชีวิตของเราผู้เป็นสาวกของพระพุทธองค์นั้น จักเดินไปอย่างถูกทางอย่างรวดเร็วที่สุด"
 

13. บทอธิษฐานจิต

"ระตะนัตตะยานุภาเวนะ  ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัย  ขอให้ทุกข์  โศก  โรค ภัย  ศัตรู  อุปสรรคอันตรายทั้งปวงของข้าพเจ้าจงพินาศไป  ขอให้ความชนะ  ความสำเร็จ  ทรัพย์และลาภ  ความสวัสดี  ความมีโชค  ความสุข  ความมีกำลัง  สิริ  อายุ  วรรณะ  โภคสมบัติ  ธรรมสารสมบัติ  และความสำเร็จกิจในความเป็นอยู่  จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า  หากข้าพเจ้ายังไม่ถึงซึ่งนิพพาน  ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร  ขอให้ข้าพเจ้าได้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์  ไปเกิดในตระกูลที่ดีเป็นสัมมาทิฏฐิ  เป็นผู้มีธรรมบริสุทธิ์  ตราบเท่าถึงพระนิพพาน เทอญ  นิพพานะปัจจะโย  โหตุ"

No comments:

Post a Comment